วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ชิ้นส่วนแห่งความสำเร็จ

พอดีได้ภาพชุดหนึ่งมาจากเพื่อน
ซึ่งเป็นภาพที่ให้พลังดีทีเดียว
น่าจะช่วยให้หลายๆคนที่ท้อแท้ฮึดสู้ขึ้นมาได้นะ ^^





ศิลปะบนเรือนร่าง

เนื่องจากช่วงนี้ค่อนข้างเห็นงานพวกนี้จากหลายๆที่
บนกระทู้เว็ปไซท์ โปสเตอร์ตามที่ต่างๆ และคนที่เคยทำ

ทำให้เรื่องของศิลปะบนเรือนร่าง หรือ Body Art
กลายเป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างสนใจ เลยไปหาข้อมูลมา
และกะจะแชร์ข้อมูลให้เพื่อนๆด้วย
(ข้อมูลมาจากหลายที่ เป็นพิจารณาและค้นคว้าเอง
ดังนั้นอาจมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องขออภัย)

Body Art หรือศิลปะบนเรือนร่าง
(หลายคนอาจคิดว่า Body Art ก็คือ Body Paint ซึ่งจริงๆ
มันก็เป็นส่วนหนึ่งของ Body Art เท่านั้น)
โดยรวมๆแล้ว Body Art นั้นรวมไปถึงการเจาะหู หรือเจาะร่างกาย
การสัก และการแต่งเติมลวดลายบนเรือนร่าง

ซึ่งหลังจากการค้นคว้าผมเองก็ยังสรุปไม่ได้
ว่าจริงๆแล้ว Body Art เริ่มต้นที่ไหน แต่มันมีมานาน
ถ้านับแบบเหมาๆ อาจเรียกได้ว่ามันมีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์
อย่างการใช้โคลน ใบไม้ มาอำพรางร่างกาย เพื่อล่าสัตว์
ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่มีศิลปะแนวนี้

แต่ที่ค่อนข้างเห็นชัด ก็อย่างเช่น "งิ้ว" ที่มีในบ้านเรามากๆ
ซึ่งในกรณีนี้ การแต่งหน้าแต่งตาแทนอารมหรือตัวละครต่างๆ
หรือในญี่ปุ่น อย่างละคร "คาบูกิ" ที่ก็มีการแต่งเติมหน้าตา
อย่างเป็นเอกลักษณ์

ซึ่งโดยส่วนตัว ความน่าสนใจของศิลปะแบบนี้ ก็คือการทำ
เพื่อการอำพราง หรือบิดเบือน ความเป็นตัวตนเดิม
และตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลง นั่นแหละที่น่าสนใจ

เรื่องทะลึ่งทำให้ไม่ทะลึ่ง

สลับบทบาทระหว่าง 2 อย่าง

หรือแม้แต่ทำเพื่อแสดงแนวคิด

ผมว่าบางทีงานพวกนี้มันก็เป็นแรงบันดาลใจ
ให้เราได้ไม่เลวเลย จนบางทีอาจต้องพูดว่า

"ทำไปได้ยังไง"

จินตนาการเรานี่น่าทึ่งนะ ^^

บันทึกโครงการ (Sketch)

หลังจากได้เรื่องที่สนใจและนำมาคิดต่อ
จนค่อนข้างได้เรื่องราวแน่ชัด
จึงได้เริ่มเสก็ตงาน ซึ่งในหัวข้อนี้
จะเป็นงานสเก็ตที่เหมือนเป็นการทบทวนและจัดระเบียบ
ความคิดของตนเอง



วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2550

Survey of Art Week4

อาทิตย์นี้ก็มีสิ่งที่อยากให้หลายคนดูอีกเช่นเคย
ซึ่งเป็นเรื่องของ Advertising Design อีกแล้ว

เพิ่งได้ไปหอสมุดหลังจากที่ไม่ได้ไปมาร่วมเดือน
ไปค้นหนังสือมาก็เจอที่น่าสนใจเล่มหนึ่ง

มันเป็นหนังสือ ของ Graphis เป็นรวมงานโฆษณา
และกราฟิค Annual ปี2005

อันนี้เป็น Stationary Set ขอร้าน ซักอบรีด ที่หนึ่ง
ซึ่งดูมีไอเดียดี ง่ายๆ แต่ไม่ค่อยเคยเห็น
โดยแค่ไดคัตเเล้วพับ ให้คล้ายปกเสื้อ ก็เข้าใจได้ทันที

อันนี้เป็น Portfolio ซึ่งดูเก๋ด้วยการเอารูปแบบ
แฟ้มทีใช้ในโรงพยาบาลมาใช้

อันนี้ง่ายๆ "เดินทางอย่างปลอดภัย" ด้วยการใช้สัญญะ
ที่เข้าใจโดยทั่วกัน

ผมว่าหากคุณเป็นคนที่ไม่ค่อยหาหนังสือมาดูบ่อยนัก
การดูงานหรืออะไรที่คุณสนใจ จากการรวบรวม
ประจำปี ก็เป็นสิ่งที่ควรจะหามาดูอย่างยิ่ง
อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้คนที่ไม่ชอบดูหนังสือเยอะๆ
ได้เห็นงานที่ช่วยเสริมความรู้ได้

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550

บริบทแห่งการแทนค่า

หลังจากเริ่มสับสนว่าควรจะทำอะไรในโปรเจ็คดี
คิดไปคิดมายิ่งปวดหัว จึงคิดว่าเราน่าจะยังไม่ต้องไปคิด
ว่างานจบจะเป็นอะไร หาข้อมูลในสิ่งสนใจไปก่อนก็พอ
น่าจะช่วยให้ได้อะไรมากขึ้น

หลังจากที่อาจารย์ได้บอกให้ลองไปหาตัวอย่าง
เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองคิดมากขึ้น
ก็ได้สิ่งเกตุสิ่งรอบๆตัว หาของที่ใช้ผิดหน้าที่ของตัวมันเอง

ซึ่งก็ได้ไปเดินดูไปเรื่อยๆ และเห็นของที่น่าจะเป็นตัวอย่าง
ได้มากมาย

อย่างเห็นที่หาดูได้ง่ายมากๆ เรียกว่าเดินออกบ้านไปนิดเดียวก็ต้องเห็น
นั่นคือ "ถังขยะ" แต่มันไม่ใช่ถังขยะจริงๆหรอก แต่ส่วนมากจะเป็น "ถังสี"
ที่เห็นบ่อยน่าจะเป็นของ TOA

ทำไมถังสี ถึงกลายมาเป็น ถังขยะ?

จะว่าไปแล้วในบ้านของผมเองก็ไม่มีถังขยะที่เรียกว่าเป็นถังขยะจริงๆ
ได้ไม่ถึงสองชิ้นด้วยซ้ำ จะมีก็แต่ถังขยะอันใหญ่ที่ตัวอยู่หน้าบ้าน

นอกจากนี้การใช้พวกตระกูลถังยังใช้แทนหน้าที่ของหลายอย่าง
เอาถังไปปลูกต้นไม่แทนกระถาง
เอาถังไปหล่อปูน ทำเป็นป้ายจอดรถ
และอื่นๆ ซึ่งน่าจะมีอีก

ซึ่งพวกนี้คงเห็นกันบ่อย แต่มีอยู่หลายอย่างที่น่าแปลกใจ
ว่ามีคนเอามันมาใช้แทนของอย่างอื่นได้ด้วยหรือ?

อย่างรูปนี้ (อาจเห็นไม่ชัด) มันคืออ่างอาบน้ำ แบบต่างประเทศ
(ที่เรียกแบบนี้เพราะคนไทยไม่ค่อยใช้กัน) เอามาทำเป็นโต๊ะ!?
โดยแค่เอาไม้ทาสีขาวแล้วก็เอามาวางไว้ มันก็กลายเป็นโต๊ะแล้ว

แต่มันน่าสงสัยว่าของอย่างอื่นมีต้องเยอะแยะทำไมพี่เค้าจึงเอา
อ่างอาบน้ำมาทำเป็นโต๊ะ? ด้วยความสงสัยจึงเข้าไปถาม
พี่แกบอกว่าเพราะว่ามันไม่ได้ใช้ และไม่รู้จะเอาไปให้ใคร
ถ้าทิ้งไว้ก็เกะกะเลยเอามาทำเป็นโต๊ะซะเลย จะมีประโยชน์กว่า

แต่นี่ไม่ใช้กรณีที่เปลี่ยนแค่สิ่งแวดล้อม แล้วของชิ้นนั้นจะเปลี่ยน
บทบาท แต่มันคือการจงใจให้เปลี่ยนบทบาท
ซึ่งจริงๆแล้วมันก็ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมของเจ้าของละนะ

อันนี้ก็ก็เป็นอีกกรณีนึง มันคือต้นไม้ ที่แค่เอาหมวกซานต้ามาใส่
ก็ดูกลายเป็นเหมือนคนใส่หมวกซานต้าขึ้นมา (ซึ่งผมมองไกลๆ
แล้วก็คิดแบบนี้จริงๆ) ถ้าถอดหมวกออก มันก็จะกลายเป็นต้นไม้ธรรมดา

จุดนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า ของบางสิ่งมันมีความหมายในตัวของมันเอง
บางสิ่งที่ความหมายมันรุนแรงกว่าก็จะกลืนอีกสิ่ง
อย่างหมวกซานต้า ก็แทนความเป็นคริสมาสต์
เครื่องหมายสวัสดกะ แทนความโหดร้าย?

ซึ่งพอมามองภาพรวมแล้วก็เห็นได้ว่า การแทนค่าของสัญญะ หรือสิ่งของ
ไปเป็นอีกหนึ่งความหมายนั้น ส่วนมากมักจะทำเพื่อให้เกิด
สิ่งใหม่ ที่มีประโยชน์ มีค่า มากกว่าบทบาทเดิมของมัน
(ซึ่งอาจจะเป็นเพราะบทบาทเดิมมันพังทลายลง)
ซึ่งมักจะเกิดจากสภาวะรอบตัวที่จำเป็นให้ต้องเปลี่ยนแปลง
หน้าที่ ไม่ว่าจะเรื่องสังคม การเป็นอยู่ ล้วนน่าจะเกี่ยวข้อง

ซึ่งจุดนี้ผมจึงคิดอยากที่จะทดลองทำการทดสอบดู
โดยอาศัยสิ่งหนึ่งที่อยู่ในสภาพที่ต่างกัน

ซึ่งอีกซักพักจะเอามาลงให้ดูครับ

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550

Survey of Art Week3

คราวนี้สิ่งที่อยากให้ทุกคนดูก็เป็น print ad อีกชิ้นที่น่าสนใจ
มันเป็นของ น่าจะบริษัท หรือ ศุนย์หนังสือ(ไม่แน่ใจ)
ซึ่งผมว่าไอเดียมันน่ารักดี

Ad ชิ้นนี้แสดงถึงความ โง่(เง่า) ของชายคนหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่อยากเป็นแบบนี้
ก็ให้ไปอ่านหนังสือเพิ่มเติมความรู้ให้สมองกันมั่ง ประมาณนี้มั้ง ^^

"Firms Up Your Brian"

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

การสัมนาการออกแบบ (อย่างไม่เป็นทางการ)

ยามดึกของคืนหนึ่ง หลังจากที่ได้ตระหนักกันถึงหัวข้อ
การสัมนา ที่จะจัดขึ้นในอีก 1 อาทิตย์

หลังจากที่ได้เปิดประเด็นทาง MSN อย่างง่ายๆ
ด้วยการดึงเอาคนในชั้นเรียนมาคุย แสดงความคิดเห็น

ซึ่งมันก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่คนเดียวทำไม่ได้
แต่ละคนมีความคิดเห็นต่างกัน

ผมว่ามันสนุกดี ที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบางอย่าง
การทำแบบนี้ช่วยเพิ่มประสบการณ์ ทางความคิด
แบบไม่ต้องไปแสวงหาเองจากที่อื่น

มันน่าจะเกิดขึ้นอีกหลายๆครั้ง ถ้าเป็นไปได้

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

Context

หลังจากที่ได้ศึกษาในเรื่องของ Postmodern Graphic Design
ก็ได้รู้สึกว่าตนเองได้มีความสนใจในการคิดแบบโพสโมเดรินซะแล้ว
บริบท ภาษาอังกฤษว่า" context"
ถ้าหากให้เราแปลคำคำนี้ตามเซนส์ของคำและการใช้ เราก็บอกได้ว่า "บริบท"
นั้นแปลว่า "ทุกสิ่งทุกอย่าง"

บริบทก็คือปัจจัยโดยรอบ คืออะไรก็ตามที่อยู่รอบ ๆ และส่งผลต่อสิ่งหนึ่ง
ทำให้สามารถเห็นได้ว่าสิ่งสิ่งนั้นไม่ได้ตัดขาดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่แวดล้อมมันอยู่
ทำให้เห็นความเกี่ยวโยงของสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง และอาจจะส่งผลไปยังอีกสิ่งหนึ่ง
ยกตัวอย่างการคิดง่ายๆ

สมมติ ว่า มีแก้วใบหนึ่งตั้วอยู่ หน้าที่และความเป็นแก้วโดยทั่วไป คือการใส่น้ำ ไว้กิน
นั่นคือการมองแบบเราเรา
ถ้าเป็นเด็กมองล่ะ? เค้าอาจจะบอกว่านี่ไม่ใช่แก้วน้ำ แต่เป็นของเล่นก็ได้

ถ้าศิลปิน อาจกลายเป็นงานศิลปะ?

นั่นคือ การจะมองหรือดูของชิ้นหนึ่ง แล้วบอกว่าสิ่งๆนั้นคืออะไร มันอาจไม่ถูกต้องเสมอไป

การมองสิ่งๆหนึ่งโดยการมองจากสภาวะโดยรอบต่างหาก ไม่ว่าจะเป็น ที่ๆสิ่งนั้นอยู่
คนที่มอง และอีกหลายอย่าง จะทำให้เราสามารถระบุสิ่งๆหนึ่งได้ชัดเจนมากกว่ามองจากความเข้าใจ
ของเราเพียงด้านเดียว

ซึ่งถ้าเอาจุดนี้มาโยงกับการออกแบบ มันจะช่วยให้เราเกิดมุมมองใหม่ ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

มีศัพท์คำหนึ่งในยุค Postmodern ที่เรียกว่า "Subvert"

Subvert หมายถึง การเอาของที่มีหน้าที่อย่างหนึ่ง มาใช้ในแบบที่ผิดหน้าที่ของมัน
แต่ก่อให้เกิดความหมายใหม่ หรือแทนความหมายบางอย่าง เช่น การนำเอาแผ่นดิสที่เสียแล้ว
มาใช้แทนนาฬิกา หรือ แผ่นรองแก้ว
อย่างชิ้นนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆที่จะแสดงให้เห็นถึงงานออกแบบที่เรียกว่า Subvert
การใช้ "D" พลิกด้านได้ก่อให้เกิดการแทนความหมายของ "Smile" หรือรอยยิ้ม

ซึ่งเราเข้าใจได้ว่ามันคือรอยยิ้ม ไม่ใช่นักออกแบบวางตัวอักษรผิดได้ยังไง?

นั่นคือ เมื่อเราอ่านชื่อเรื่อง ที่มีคำว่ารอยยิ้ม เราก็จะสามารถเข้าใจความหมายของ
ตัว "D" พลิกด้านได้ทันที ว่านี่แทนภาพรอยยิ้ม (บางคนอาจจะมองไม่เหมือนกัน ตาการใช้ชีวิต)

นั่นคือการมอง แบบ Context

ซึ่งผมคิดว่ามันน่าสนใจมาก ถ้าจะนำเอาความคิดมาทำงานออกแบบเชิงทดลองซักหนึ่งชิ้น
โดยการทดลองความเข้าใจ และการรับรู้ ของสิ่งหนึ่ง ในหลายๆสถานการณ์ ของคนที่ชมผลงาน

แต่ตอนนี้ยังคิดได้ไม่จบ ว่าสรุปแล้วมันควรจะเป็นงานแบบไปไหน หรืออย่างไร

ซึ่งถ้ามีอะไรคืบหน้า ผมจะนำมาเสนอเพิ่มเติมนะครับ(ตอนนี้หัวยังตันอยู่ ^^)
หรือมีอะไรแนะนำก็ช่วย Comment กันมาได้ครับ





ขอบคุณ

Survey of Art Week 2

อันนี้เป็นสมุดสเก็ต ที่ผมไปซื้อมาจาก B2S
ซึ่งผมว่ามันเจ๋งดี คือมันน่าหยิบ น่าซื้อ (แล้วก็ซื้อมาแล้วด้วย)


























































คือมาคิดดูแล้วโปรดัก ส่วนใหญ่ มักจะแข่งขันกันที่ ดีไซน์
ใครทำดูดีกว่า น่าหยิบกว่า ก็จะขายได้
คือบางทีการใช้แต่การตลาดอย่างเดียว ผมว่ามันก็ทำให้ของบางอย่าง
ขายได้ดีเท่าที่ควรหรอก มันน่าจะต้องมีการออกแบบควบคู่ไปด้วย

นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสินค้าที่ดูมีลูกเล่น จนชักชวนให้ผมซื้อมัน
แม้จะแพงซักนิด (160 บาท) แต่ผมว่ามันก็โอเคกับราคานะ

Survey of Art Week 1

หลังจากที่มีเวลาว่างไปดูงานโฆษณาที่งาน ADC นำมาแสดงที่
แกลอรี่ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็รู้สึกว่างานออกแบบโฆษณา
ก็เป็นงานที่สนใจเลยทีเดียว และมีหลายงานที่ผมชอบ





















เป็นงานโฆษณาขององค์กรช่วยเหลือเด็ก(หรืออะไรซักอย่าง)
โดยมี copy ประมาณว่า "มันไม่ได้เกิดที่นี่ แต่มันเกิดขึ้นแล้วในตอนนี้"
ซึ่งโดยส่วนตัวผมว่ามันมีลูกเล่นดีโดยทำเหมือนเป็นภาพ
สถานที่จริงมองไกลๆอาจจะนึกว่าของจริงก็ได้

เป็น print ad ที่น่าสนใจอันหนึ่งเลย

นอกจากนี้ยังมีงานอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจ ถ้ามีเวลาก็ลองไปดูกันนะ
ที่หอสมุด สุรัตน์ ชั้น 2 ห้องแสดงงาน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

Postmodern Graphic Design III

ถ้าพูดถึงรูปแบบงานของ Modern มักจะเป็นงานที่มีแนวคิดแบบ
"Form Follow Function"

ส่วนงานแบบ Postmodern คืองานแบบ "Form Follow Content"(or context?)

ความเป็น Postmodern คือการแสวงหาสิ่งใหม่ในงานออกแบบ
เพราะความซ้ำซากของรูปแบบงานที่มีให้เห็นบ่อยมากในยุคของ Paul Rand,
Pentagram ดังนั้นอาจจะพูดได้ว่า Postmodernist มีรูปแบบคล้ายกับ
Deconstructionist คือการนำเอาระบบความคิดเดิมๆมาฉีกออก
เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆที่ใช้ในการสร้างงาน โดยมองจากหลายอย่าง
รอบๆที่ส่งผลสัมพันธ์กัน มากกว่าจะมองแต่ภาพลวง(หรือเปลือก)

ซึ่ีงตรงจุดนี้จะสามารถนำเอามาอธิบายคำว่า "Context"(บริบท)
ที่ใช้มากในยุค Postmodern แทนคำว่า"Content"
ซึ่งมาจากการการเปลี่ยนแปลงวิธีความคิดไปเป็นมองที่แนวคิดของงาน
รวมไปถึงศัพท์ต่างๆที่เกิดขึ้นมาในยุค Postmodern ที่ค่อนข้างจะแสดง
ลักษณะความเป็น Postmodern ได้ดียิ่งขึ้น

-Pastiche คือการจับเอาลักษณะของสไตล์ต่างๆมาปะติดปะต่อกัน

-Kitsch น่าจะหมายถึงงานออกแบบที่ต้องการผลิตงานให้ดีแต่ไม่สำเร็จ และดูเกินงาม
(Over Design)

-Subvert คือการนำเอาสิ่งที่มีหน้าที่อย่างหนึ่งไปใช้ทำหน้าที่ของสิ่งอื่นแทน
เป็นการเปลี่ยนคอนเซ็ป เพื่อให้ได้สิ่งใหม่

-Site ในยุคนี้ คำนี้จะถูกใช้เรียกจุดหนึ่งในความคิดของงาน ที่แสดงออกถึงคอนเซ็ป

-Simulacrum คือการลอกเลียนอย่างไม่มีรสนิยม ทำให้เกิดงานที่ดูไม่เข้ากัน

-Camp คืองานที่จงใจให้งานดูไม่มีรสนิยม อาจทำเพื่อประชดหรืออะไรซักอย่าง
รวมไปถึงงานเลียนแบบที่จงใจทำให้ดูไม่ดี เป็นต้น

-Vernacular ในความหมายเชิงออกแบบหมายถึง การออกแบบสิ่งเดียวกัน
ในสถานที่ต่างกัน แต่สามารถปรับให้เข้ากัยสถานที่นั้นๆได้ ตามปัจจัยต่างๆ
ที่พบได้ในที่นั้นๆ เช่นร้าน เคเอฟซี ที่มีในหลายๆที่ ซึ่งแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน
แต่เราก็บอกได้ว่านี่คือร้าน เคเอฟซี

ซึ่งจากศัพท์เหล่านี้เรียกได้ว่า งานออกแบบในยุค Postmodern นั้น
มีรูปแบบที่หลากหลาย ยากที่จะแยกแยะงานในยุคนี้ด้วย Element ในงาน
ดังนั้น การแยกแยะงานออกแบบของ Postmodern น่าจะเป็นการดูที่ความคิด
หรือคอนเซ็ป (น่าจะเกี่ยวกับการที่เราทำ mind map)

โดยรวมแล้วความเป็น Postmodern Graphic Design ค่อนข้างจะเป็นคำที่
เข้าใจได้ยาก แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะตีความหมายอย่างไร บางคนอาจบอกว่า
เป็นการทำลายรูปแบบเดิม บางคนอาจบอกว่านี่ คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานความเข้าใจและประสบการณ์เฉพาะตัว






อ้างอิง
-บทความของอาจาร อนุทิน วงศ์สรรคกร
-หนังสือ "สู่โลกหลังสมัยใหม่" ของ วรนุช จรุงรัตนาพงศ์
-หนังสือ "ประวัติศาสตร์ศิลปะ ยุคฟื้นฟูและยุคใหม่" ของรองศาสตราจาร อัศนีย์ ชูอรุณ
-http://en.wikipedia.org/wiki/Graphic_design
-No more rule Graphic Design and Postmodernism, Rick Poynor
-A History of Graphic Design , Philip B. Meggs
-Postmodern ดีกว่าแบรนด์ ซับซ้อนกว่าโฆษณา ,ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

Postmodern Graphic Design II (ต่อ)

จากบทความในเรื่องของ Postmodern ที่เขียนมาทั้งหมด
ยังมีอีกหนึ่งคำถามที่ชวนให้สงสัย คือ

ในปัจจุบันนี้ยังเรียกได้ว่าเป็นยุคของ Postmodern Graphic รึเปล่า?

ซึ่งหลังจากที่ได้วิเคราะห์กันในกลุ่มเพื่อน ก็ได้ข้อสันนิษฐานว่า

ในปัจจุบันนี้น่าจะเรียกได้ว่าไม่ใช้ยุคโพสโมเดิรนแล้ว
ซึ่งจริงๆคำว่า Postmodern Graphic Design ไม่ใช่คำที่พูดถึงยุคสมัย
แต่น่าจะเป็นคำที่ใช้เรียกรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
โลกของนักออกแบบ เชกเช่นกับที่เราใช้เรียกรูปแบบของ bauhaus
หรือแม้แต่ Swiss Style ไม่ใช่คำเรียกของยุคสมัย

ถ้าดูกันจริงๆแล้ว ตั้งแต่ยุค Postmodern จนถึงปัจจุบัน
ก็ยังไม่ได้มีรูปแบบอะไรใหม่ๆที่ชัดเจน
แต่ส่วนใหญ่งานในปัจจุบันมักจะมีรูปแบบที่หลากหลาย
และไม่ได้มีรูปแบบที่ยึดติดกับสถานที่เท่าแต่ก่อน คือ
ไม่จำเป็นว่าคนสวิส จะต้องทำแต่งานแบบสวิส
นักออกแบบในปัจจุบันมีอิสระ (ที่อยู่ในข้อจำกัด) ที่จะเลือกรูปแบบ
ให้เข้ากับชิ้นงานแต่ละชิ้น เพื่อที่จะแสดงเอกลักษณ์ที่มีอยู่ในรูปแบบ
ต่างๆ สื่อออกมาแทนเนื้อความของงาน

เป็นเพราะในปัจจุบันความฉับไวของข้อมูลและข่าวสารที่ง่ายขึ้น
ทำให้นักออกแบบมีโอกาสที่จะศึกษารูปแบบที่หลากหลาย
พร้อมกับมีอิสระ และสิทธิ ที่จะนำเอารูปแบบต่างๆมาใช้
โดยแทบจะไม่มีข้อจำกัด

ซึ่งจากที่พูดมาก็น่าจะเรียกได้ว่าในปัจจุบันนี้ได้ผ่านพ้น
จากความเป็น Postmodern ไปแล้วและเข้าสู่ยุคสมัยที่เปิดกว้าง
และมีการผสมผสานรูปแบบที่หลากหลาย ตามแต่ว่างานแต่ละชิ้น
ควรจะมีลักษณะอย่างไร




อ้างอิง
-บทความของอาจาร อนุทิน วงศ์สรรคกร
-หนังสือ "สู่โลกหลังสมัยใหม่" ของ วรนุช จรุงรัตนาพงศ์
-หนังสือ "ประวัติศาสตร์ศิลปะ ยุคฟื้นฟูและยุคใหม่" ของรองศาสตราจาร อัศนีย์ ชูอรุณ
-http://en.wikipedia.org/wiki/Graphic_design
-No more rule in Graphic Design and Postmodernism
-A History of Graphic Design , Philip B. Meggs
-Postmodern ดีกว่าแบรนด์ ซับซ้อนกว่าโฆษณา ,ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

Postmodern Graphic Design II

หลังจากได้หาข้อมูลของ กราฟิกในยุค Postmodern มาเพิ่มเติม
ก็เห็นว่า ข้อมูลของคราวที่แล้วยังมีบางส่วนไม่ชัดเจน
จึงขอโอกาสเรียบเรียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ข้อความเหล่านี้มีความคิดเห็นส่วนตัวอยู่ด้วย โปรดใช้วิจารณญาณ

_________________________________________

Postmodern Graphic Design นับได้ว่าเป็นยุคที่ให้ความสำคัญ
กับเรื่อง เสรีภาพ และความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล
ดีไซเนอร์จึงมีอิสระที่จะนำเอาสิ่งต่างๆที่มีอยู่ หรือภาษาที่ใช้
มาผสมให้เกิดเป็นงานใหม่ๆ และเริ่มกลายเป็นการออกแบบเชิงทดลอง

ซึ่งจะมีความแตกต่างค่อนข้างชัดเจนกับงานออกแบบในยุค Modern
ที่มักจะเป็นการออกแบบตามหลักทฤษฎี และเหตุผล
จนมีหลายแห่งให้คำจำกัดความยุค Postmodern ว่าเป็นยุคที่ต่อต้าน
และปฏิเสธยุค Modern อย่างมาก

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับยุค Modern กันก่อน
งานออกแบบในยุค Modern มักจะมีรูปแบบค่อนข้างชัดเจน
ซึ่งอิงกับทฤษฎี และกฎเกณฑ์ อย่างเช่นรูปแบบ International Style
หรือ Swiss Style ที่มีรูปแบบเรียบง่าย ผสมผสานระหว่าง
Typography และ Geometric Form ดูสะอาดตา
ตัวอย่างนักออกแบบในยุคนี้ เช่น josep muller brockman

ในยุค Modern ที่เพิ่งเริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม
งานออกแบบจึงค่อนข้างถูกอิทธิพลของการคิดแบบเหตุ และ ผล
มาเกี่ยวข้อง งานในยุคนี้จึงค่อนข้างยึดกฎเกณฑ์และทฤษฎี
ตามสภาวะของสังคม

แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยที่เริ่มมีการออกแบบเชิงพานิชมากขึ้น
พร้อมกับสภาพสังคมที่เริ่มมีความแตกต่างของรสนิยมมากยิ่งขึ้น
นักออกแบบในยุคนี้จึงต้องปรับตัวและออกแบบเพื่อตอบรับความต้องการ
ที่หลากหลาย เปรียบเทียบง่ายๆ ถ้าต้องการออกแบบโปสเตอร์ เพลงร็อค
การใช้รูปแบบ เรียบง่ายแบบ Modern คงไม่ดีแน่

ในยุคสมัยนี้ผู้คนอาจจะมองว่า โมเดิร์นลิซึ่มเป็นสิ่งที่สวยงามในเชิงบวก
แต่โพสต์โมเดรินเป็นในทางเชิงลบ เพราะยุคนี้เป็นยุคของการที่แหกกฏเกณฑ์
ในการออกแบบ โดยไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ไม่มี grid
โดยได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งรอบๆ ตัว
การทำแบบนี้น่าจะเกิดจากการแข่งขันในเชิงพานิชซึ่งต้องใช้รูปแบบแปลกตา
จะช่วยสร้างความประทับใจแก่ผู้ดูได้อีกระดับหนึ่ง

แต่ผมคิดว่างานในยุค Postmodern ถ้าไม่ดูแย่ ก็จะดูดีไปเลย

แต่ใช่่ว่างานในยุค Postmodern จะแหกกฎไปซะหมด
ซึ่งจริงๆและ้วก็ยังมีนักออกแบบรุ่นเก่าที่ยังยึดรูปแบบเดิมอยู่
ซึ่งนักออกแบบในสวิส และอังกฤษ จะไม่ค่อยสน Postmodern
ซักเท่าไหร่ งานที่เป็น Postmodern ส่วนมากจะอยู่ที่อเมริกา
ซึ่งให้ความสำคัญมากกว่า ศิลปินที่เด่นชัดก็เช่น David Carson

อีกสาเหตุหนึ่งที่เอื้อหนุนให้นักออกแบบสามารถออกแบบเชิงทดลอง
ได้มากขึ้น คือเรื่องของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
การมีคอมพิวเตอร และระบบการพิมพ์์ใหม่ๆ
ก็ช่วยให้นักออกแบบสามารถทำอะไรได้มากขึ้น

งานออกแบบในปลายศตวรรษที่ 20 ค่อนข้างที่จะลดความระห่ำลง
เริ่มมีการผสมผสานรูปแบบทั้งเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน
คือ มีการใช้เหตุผลร่วมกับรูปแบบการปะติดปะต่อ จนได้งานที่ลงตัวยิ่งขึ้น
ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่นักออกแบบได้ทดลองอะไรหลายๆอย่าง
จนรูปแบบใหม่ๆค่อนข้างจะลงตัว (และไม่ค่อยมีรูปแบบงานที่ใหม่กว่าเกิดขึ้น)
จึงทำให้งานออกแบบที่สืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ค่อนข้างจะมีวิธีแก้ปัญหามากพอในการออกแบบ

เรียกได้ว่างานกราฟิกในยุค Postmodern ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญ
ในวงการออกแบบในปัจจุบัน



วันนี้ไว้แค่นี้ก่อนครับ ไว้จะมาลงเพิ่มเติมต่อ






อ้างอิง
-บทความของอาจาร อนุทิน วงศ์สรรคกร
-หนังสือ "สู่โลกหลังสมัยใหม่" ของ วรนุช จรุงรัตนาพงศ์
-หนังสือ "ประวัติศาสตร์ศิลปะ ยุคฟื้นฟูและยุคใหม่" ของรองศาสตราจาร อัศนีย์ ชูอรุณ
-http://en.wikipedia.org/wiki/Graphic_design
-No more rule in Postmodern Graphic Design
-A History of Graphic Design , Philip B. Meggs


เรียบเรียง โดย พงศธร ตั้งสะสม

โครงการอักขรศิลป์ “ทรงพระเจริญ”

เนื่องด้วยใกล้จะถึงวาระ วันพ่อมหาราช
ซึ่งหน่วยงานต่างๆหลายๆด้านก็ได้เตรียมกิจกรรม
เพื่อเฉลิมพระเกียรติ

ซึ่งกลุ่มนักออกแบบก็ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมอย่างหนึ่งขึ้นมาเช่นกัน
นั่นคือ

:: โครงการอักขรศิลป์ ทรงพระเจริญ ::

ซึ่งเป็นโครงการออกแบบ และเผยแพร่อักขรศิลป์ ทรงพระเจริญ รูปแบบใหม่
เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา
และจะมีการรวบรวมผลงานอักขรศิลป์ ทรงพระเจริญ
จากนักออกแบบและผู้ที่ส่งผลงานเข้าร่วม
เพื่อจัดแสดงในระหว่างวันที่ 14 - 17 ธันวาคม 2550
บริเวณ โถงชั้น 1 สยามดิสคอพเวอรี่เซ็นเตอร์
และผ่านเว็บไซต์ www.songpracharoen.org

รายละเอียดจาก grafiction.blogspot.com

หลังจากได้ทราบรายละเอียดจากอาจารย์ สันติ ลอรัชวี
ก็คิดว่ามันเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ (อาจเป็นเพราะช่วงนี้
กำลังบ้า Typo ตามโม่ วริท ) จึงได้เริ่มค่อยๆเสก็ตเมื่อมีเวลาว่าง
และตอนนี้ก็ได้ผลงานออกมาแล้วหนึ่งชิ้น หึหึ

งานนี้ก็เอาความคิดเรื่อง Long Live The King มาใช้คือ
นำตัวอักษรมาเชื่อมให้ต่อเนื่องกัน และใช้การทับกันของเส้น out line
ซึ่งผมเองก็คิดว่ามันก็โอเคในระดับหนึ่งนะ ^^

ไว้มีเวลาว่างว่าจะนั่งทำอีก แต่ช่วงนี้งานเริ่มเข้าจึงขอพักไว้แค่นี้ก่อนครับ




ขอบคุณ

Graphic on Enviropment II (ภาค ตะลุย แดน มังกร)

เนื่องจากได้รับโจทย์ที่น่าสนใจมาจากอาจารย์ สันติ
เรื่องกราฟิกบนสถานที่ต่างๆ ซึ่งตอนแรกเราได้ไปศึกษากัน
ในห้างดังๆ ที่มักจะมีแต่ร้านแบรนด์เนมดีดี และได้นำสิ่งที่วิเคราะห์
นำมาบอกเล่าในห้องเรียน แต่อาจารก็ได้บอกให้เราลองมองในมุมมอง
หลายๆแบบ เหมือนให้เรารู้จักลองใช้ไม้บรรทัด หลายๆอัน
เพื่อให้ได้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่ง ในมุมมองที่หลากหลาย

ดังนั้น อาจารจึงบอกว่าให้เราลองไปดูกราฟิกตามท้องถนนดูบ้าง
เนื่องจากเราได้เห็นพวกร้านแบรนด์เนม ดีไซน์ ดีดี ไปแล้ว

หลังจากที่เราลองได้คิดว่าจะไปไหนกันดี ตอนแรกก็มองไปที่
โซน ท่าพระจันทร์ ตามความเห็นของ โม่ (ฟานเชสโก้)
แต่เนื่องจากเน็ท ได้มีประสบการณ์ อันเลวร้ายแถวนั้น
ความเห็นนี้จึงยกเลิก แล้วจึงเลือกที่จะไปเยาวราศ
ตามความเห็นของเน็ท ที่ได้ไปปรึกษา อาจารวี วีรพร มา

โดย มี ผม โอ พงศธร ,เน็ท ฉัตรณรงค์ และ ฟานเชสโก้ โม่ วริทย์
ร่วมเดินทางไปด้วยกัน

เราได้ตั้งต้นกันที่อนุเสาวรีย์ ทันทีที่ลงเน็ทก็ได้ขอเข้าห้องน้ำ
และได้เห็นบางสิ่งที่น่าคิด คือพวกป้ายต่างๆ ในห้องน้ำ
อย่างป้าย "กรุณาปิดน้ำหลังใช้" อะไรพวกนี้ กลับทำด้วยกระดาษ
ที่ง่ายต่อการฉีกขาด (ซึ่งมี่อยู่ในห้องน้ำเต็มไปหมด)
สำหรับเราแล้วคงคิดว่าเรื่องพวกนี้ควรจะเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง
ในฐานะนักออกแบบ แต่ถ้าคิดในทางกลับกัน
ของพวกนี้จะช่วยประหยัดเงินทุนให้แก่คนทำมาก ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่อง
ความเห็นชอบของเจ้าของสถานที่

ถ้าจากที่คิดเอาเอง เนื่องจากห้องน้ำที่อนุเสาวรีย์
เป็นที่ๆมีคนเข้าใช้ตลอดทั้งวัน และมากหน้าหลายตา
ในจำนวนนั้นจะต้องมีพวกคนมือบอนที่คอยแกะป้ายพวกนี้ออก
ซึ่งหากเจ้าของไม่มีงบมากพอที่จะติดป้ายที่ทนทาน
การใช้ป้ายกระดาษราคาถูกก็น่าจะเป็นทางเลือกที่เข้าถึงง่ายที่สุด
(แต่ไม่ว่ายังไง ผมก็คิดว่าถ้าต้องการใช้ข้อความนั้นจริงๆ
น่าจะใช้วัสดุที่ดูทนทานกว่านี้ จะดีที่สุด)

ต้องขอบคุณ เน็ท ที่สังเกตุเห็น และทำให้ผมนำมาคิดต่อ

เรานั่งรถต่อมาลงที่สำเพ็งแล้วคิดว่าจะค่อยไปเดินเยาวราศ
เรายืนคิดกันว่าทำยังไงเราถึงจะเห็นมุมมองที่หลากหลาย
ก็ได้ความว่าอยากเห็นมุมมองอื่น เราก็ถามคนอื่นซะก็สิ้นเรื่อง

เราเดินหาคนที่น่าจะเป็นเป้าหมายในการถาม และน่าจะให้ความร่วมมือ
คือ พวกนักศึกษาที่มา ช้อปปิ้ง คนที่อาศัยในสถานที่ และชาวต่างชาติ
ซึ่งเดินไปเดินมาก็ไม่กล้าที่จะถาม เพราะด้วยการจราจรที่ติดขัด
ซึ่งถ้าเราหยุดถามจะทำให้คนข้างหลังตบกบาลเอาได้ เราจึงมุ่งไปเยาวราศ
ระหว่างนั้นเราได้สังเกตุและวิเคราะห์ในแบบของเราได้ว่า
พวกป้ายหน้าร้านตามท้องถนน มักจะคำนึงถึงเรื่องขนาดเป็นหลัก
ประมาณว่าให้คนเห็นก็พอ เพราะเห็นขนาดร้านขายลูกชิ้น
ยังทำป้ายขนาดเท่ารถเข็น ทั้งๆที่เขียนข้อมูลนิดเดียว

ตรงจุดนี้น่าจะเป็นเพราะร้านในย่านนี้น่าจะแข่งกันในเรื่องของราคา
มากกว่าความสวยงามของร้าน เพราะคนที่มาที่นี้น่าจะมาเพื่อซื้อของถูก
(พวกป้าๆ จะยิ่งเยอะ ในแถวๆนี้ - -") คือต่อให้ร้านสวยแต่ของแพง
คนก็จะไปร้านอื่นเพราะมีของให้เลือกเยอะ

แต่ก็ยังมีพวกป้ายร้านที่น่าสนใจอยู่

อย่างร้านนี้ดูตอนแรกนึกว่าขายกระเบื้อง แต่กลับเป็นร้านขายของชำรวย
แต่ด้วยการใช้ วัสดุ และ ไทโปกราฟี่ (รึเปล่าหว่า?)
ทำให้ร้านนี้ติดตาผมไปจนจบการเดินทาง

พอถึงเยาวราศสิ่งแรกที่เราเห็นก็คือป้ายสีแดงที่มีอยู่เต็มไปหมด
(เพราะมันคือเยาวราศ) พร้อมกับภาษาจีนที่อ่านไม่ออก (ทั้งที่มีเชื้อจีน - -)
พอเดินไปได้ซักพักก็ได้เจอเสื้อถูกใจจึงตัดสินใจซื้อ และถือโอกาสถาม
ป้าร้านขายเสื้อที่น่าขายแถวนี้มานานว่า

รู้สึกยังไงกับพวกป้ายร้านที่อยู่ในเยาวราศ

ซึ่งป้าก็บอกว่าป้ายในเยาวราศมีจุดหนึ่งที่สำคัญอย่างมาก
หากต้องการป้ายซักอัน คือ

เรื่องของดวง สิริมงคล และฮวงจุ้ย

ซึ่งป้าบอกมาว่าสีแดงกับสีทองเป็นสีที่จะเสริมความเป็นสิริมงคล
ให้กับเจ้าของ

ซึ่งกรณีที่เรื่องของดวงและฮวงจุ้ยมามีอิทธิพลในการออกแบบ
ก็มีกันให้เห็นมาแล้ว อย่างกรณี ของธนาคารกสิกร ซึ่งการเปลี่ยน
โลโก้ล่าสุด ก็เป็นเพราะเรื่องของฮวงจุ้ย เช่นกัน

ซึ่งผมก็ไม่แปลกใจที่คนจีนจะยึดติดกับเรื่องพวกนี้เพราะผมก็เป็นลูกหลานคนจีน

ต่อมาเราก็เดินต่อในเยาวราศและพบว่าร้านในเยาวราศ
มักจะเป็นรูปแบบเดียวกัน คือ มีสีแดง สีทอง และภาษาจีน
มีอยู่ร้านหนึ่งที่สีแตกต่างคือร้าน ฮั่ว เซ็ง เฮง ที่ใช้สี เขียว สีส้ม
(มีสีอื่นรึเปล่าไม่แน่ใจ) ซึ่งอันนี้ก็ไม่รู้ทำไม
แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องของสิริมงคลอีกนั่นละ

หลังจากที่ทำใจอยู่นาน ผมจึงได้ตัดสินใจไปสอบถามความเห็น
จากชาวต่างชาติ และมองไปที่พวกแบบคุณลุงผิวขายอ้วนๆท่าทางผู้ดี
แต่ปรากฏว่าคุณลุงคนแรกที่ทักไปกลับไม่ให้ความร่วมมือ (แถมมองแบบเหยียดๆ)
ซึ่งทำให้พวกเราอารมเสียไปตามๆกัน ต่อมาจงคิดกันว่าน่าจะเลือก
พวกชาวต่างชาติที่ดูกังๆ แบกเป้ ยืนถ่ายรูป ดูประมาณนักผจญภัย

และเราก็ได้ตัดสินใจถามชายคนหนึ่งโดยมี ฟานเชสโก้ โม่ วริท เป็นคนเปิดถาม
และชาวต่างชาติก็บอกว่าตัวเองเป็นคนเยอรมัน ชื่อว่าคุณ "เฟดเดอริก"
ซึ่งให้ความร่วมมืออย่างดี เราถามก่อนว่า

"รู้สึกอย่างไรกับสภาพแวดล้อมแถวนี้"(แปลเป็นภาษาอังกฤษเอาเองนะครับ)

คุณเฟดเดอริก: ผมรู้สึกอัศจรรย์มาก ที่นี่เป็น ไชน่าทาวน์ ที่ต่างจากในประเทศผม
มันดูใหญ่ และมีเสียงดัง (จากคนที่พลุกพล่าน) เมื่อสองวันก่อนผม
ยังอยู่ที่ทะเล มันเงียบมาก พอมาอยู่ที่นี่ (คุณ เฟดเดอริกเงียบและเราก็หัวเราะ
เพราะโดยรอบมีแต่เสียงดัง) คุณดูสิ มันมีความต่างมากไปหมด เหมือนขาวกับดำ
คุณกับผม ต่างจากไชน่าทาวน์ที่อื่น ที่คนเหล่านั้นมักจะตัวเล็ก
และไม่ยินดีกับคนนอก (แปลผิดรึเปล่าไม่แน่ใจ) มันยอดมากๆ

คุณเฟดเดอริก จึงถามว่าเราเป็นนักเรียนหรือ เราจึงบอกไปว่าเป็นนักเรียนสาขาออกแบบ
จากนั้นคุณ เฟดเดอริกก็พูดถึงเรื่องครอบครัวซึ่งเราจะข้ามไป

เราถามต่อว่า "คุณคิดยังไงกับพวกกราฟิกและป้ายในแถบนี้"

คุณเฟดเดอริกบอกว่าเนื่องจากเค้าอ่านภาษาจีนไม่ออก เพียงแต่พอจะบอกได้ว่า
เค้าสามารถแยกแยะได้ว่าที่นี่เป็น ไชน่าทาวน์ และพอจะดูออกบ้างว่าป้ายร้านนี้
ขายอะไร ร้านนั้นขายอะไร เท่านั้นเอง

เราคุยกับคุณ เฟดเดอริกอีกซักพัก จึงบอกลาและไปที่อื่นต่อ

เราไปต่อกันที่ "ดิ โอล สยาม" ซึ่งเป็นห้างที่มีความเป็นเอกลักษณ์แบบย้อนยุค
ซึ่งด้านในของห้างจะถูกออกแบบให้เป็นแบบย้อนยุค แม้แต่บันไดในร้านเคเอฟซี
ยังทำแบบย้อนยุค!? คือเน้นเรื่อง Theme มากๆ ซึ่งผมว่ามันก็ดูน่าสนใจดี
เพราะห้างนี้คงไม่ใช่ห้างที่ให้พวก ไฮโซ ใช้สินค้าแบรนด์เนม มาเดินแน่ๆ
กลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นพวกคุณลุงคุณป้า กับเด็กนักเรียน ซะมากกว่า
ซึ่งผมคิดเอาจากสภาพในห้างและของที่ขาย และคิดว่าที่ผมคิดมันคงจะถูกต้อง

พอเสร็จจากการเดินดูที่ "ดิ โอล สยาม" เวลาก็ปาเข้าไปจะ 6 โมงแล้ว
ซึ่งพวกผมออกกันมาตอน 10 โมงเช้า รวมเวลามาเดินก็ปาเข้าไปร่วม 7 ชั่วโมง
ซึ่งพวกเราก็คิดว่าได้อะไรเพียงพอจึงได้ตัดสินใจกลับหอกัน

หลังจากที่เดินมาก็พอจะสรุปได้ว่า

- ร้านค้าในระดับรากหญ้ามักจะให้ความสำคัญกับขนาดของกราฟิกที่ใช้
มากกว่าจะเป็นเรื่องของลักษณะพิเศษของร้าน เช่น บางร้านได้ขายของเก่าย้อนยุค
แต่ป้ายหน้าร้านกลับไม่ได้บ่งบอกเลยว่าร้านนี้ขายของย้อนยุค มีเพียงป้ายใหญ่ๆ
และข้อความที่บอกทุกอย่างว่าขายอะไรบ้าง ติดต่อยังไง อยู่ที่ไหน เท่าที่ที่จะพอใส่
แต่พอจะเข้าใจได้ระดับหนึ่ง ว่าร้านพวกนี้ขอแค่ให้คนเห็นว่าขายอะไรก็พอ
เพื่อให้คนมาดูร้านตนก่อนร้านอื่น เพราะร้านข้างถนนมีการแข่งขันกันมาก

- เรื่องเงินทุน มีใครบ้างที่ไม่อยากทำร้านให้ดีดี ป้ายใหญ่ๆ สวยๆ ก็เพราะมีงบประมาณ
จำกัดนั่นแหละ ทำให้พวกคนพวกนี้เลือกใช้แต่ของถูก และง่ายต่อการแสวงหา
เพื่อที่จะซ่อมแซมและแก้ไขราคา ได้ตลอดเวลา และไม่เปลืองงบ
(ซึ่งข้อนี้ผมเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องรสนิยมของคนไทย ที่เห็นเค้าทำมายังไงก็ทำแบบนั้น
กรณีก็มีให้เห็นบ่อย คิดว่าบางอย่างแค่ทำง่ายๆก็สวยได้เหมือนกัน)

- ความเชื่อ เรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องที่ตัดไม่ขาด ของนักค้ากำไรทั้งหลาย
ฉะนั้น ในป้ายร้านของคนพวกนี้จะยัดอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งสิริมงคลจะเข้าไปอยู่ได้
ขอแค่มีชื่อร้าน กับว่าขายอะไรก็พอ (ขนาดรถเข็นขายน้ำตาลสด
ยังทำป้ายสีแดงเลย - -")

ที่พอสรุปได้ก็มีประมาณนี้ครับ


อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัว
โดยรวมคือ ของพวกนี้มักจะมาเป็นแพทเทรินเดียวกันหมด
คือใครทำแล้วดี กูทำมั่ง โดยคำนึงว่าร้านตัวเองควรจะมีเอกลักษณ์ ต่างจากร้านอื่น น้อยมาก ซึ่งนี่น่าจะมาจากการที่คนไทยเห็นอะไร ที่มันไม่มีรสนิยมมานาน อันนี้เป็นเรื่องที่ผม เศร้ามากๆ ที่ประเทศเรา ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการออกแบบเท่าที่ควร และหวังว่าสักวันคนรุ่นใหม่ จะเปลี่ยนรูปแบบเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้นะครับ (รวมรุ่นผมด้วย)




ทั้งหมดนี้มีความคิดเห็นส่วนตัวของผมอยู่ด้วยควรมีวิจารณญาณ

หากมีอะไรไม่เหมาะสมก็บอกไว้ได้ครับ ขอบคุณ







ขอขอบคุณ
- ฟานเชสโก้ โม่ วริท ที่ยอมทำตามคำชวนไปเดินด้วยกันอีกครั้งซึ่ง ช่วยเพิ่มความบันเทิงในการเดินทางได้มากเลย
- เน็ท ที่ร่วมเดินทางด้วยกันอย่างสนุกสนานอีกครั้ง
- คุณ เฟดเดอริก กับ ป้าร้านขายเสื้อ ที่ให้ความร่วมมือตอบคำถาม
- อาจารย์ ติ้ก กับ อาจารย์ มะลิ กับข้อคิดดีดี

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

หัวหอกแห่งกราฟิกยุคโมเดริน Pual Rand




















คุณเคยเห็นโลโก้ดังๆ อย่าง IBM หรือ ABC มั้ย?

โลโก้พวกนี้นับเรียกได้ว่าเป็นงานกราฟิกในยุคแรกๆ
ของงานออกแบบเลยทีเดียว

แล้วคนที่สร้างโลโก้พวกนี้ขึ้นมาล่ะ?
เค้าชื่อว่า Pual Rand นักออกแบบชาวสหรัฐฯ

เนื่องจากหลังจากที่จัดการกับไฟล์ต่างๆในคอมตัวเองให้เข้าที่เข้าทาง
ก็ได้เหลือบไปเจอแฟ้มที่ชื่อ Pual Rand ซึ่งเป็นงานให้หาประวัตินักออกแบบ
มานำเสนอ แล้วผมก็ได้หน้าที่หาประวัติของ Pual Rand

พูดตรงๆว่านักออกแบบคนนี้นับว่าเป็นนักออกแบบต่างประเทศ
ที่ผมรู้จักคนแรกๆ และผมเห็นว่าเป็นน่าจะเป็นสิ่งที่ดีถ้าเพื่อนๆ
จะทำความรู้จักกับเค้าให้มากขึ้น

พอล แรนด์ นับได้ว่าเป็นศิลปินกลุ่ม โมเดิร์นริซึ่ม
ที่อยู่ในระหว่างยุคสมัยของการออกแบบเชิงทดลอง
และช่วยสร้างรากฐานอาชีพนักออกแบบให้มั่นคง
หนังสือ Thoughts on Design ของ แรนด์ ที่เขียนในปี 1947 ได้ยกบทบาทของนักออกแบบให้มีค่าเทียบเท่ากับศิลปะอย่างหนึ่ง และเสนอว่าศิลปะและการออกแบบต่างใช้ภาษาร่วมกัน ดังนั้นการประยุกต์ทฤษฏีของศิลปะก็สามารถมาใช้กับการออกแบบร่วมกันได้

เขามีผลงานการออกแบบโปสเตอร์โฆษณาและโลโก้มามายให้แก่บริษัทต่างๆ
รวมไปถึงบริษัท IBM (บริษัทที่ทำธรุกิจด้านคอมพิวเตอร์ในอเมริกา),
UPS (บริษัทที่ทำธรุกิจด้านพัสดุ)และ ABC (สถานีโทรทัศน์และวิทยุ)














พอล แรนด์ เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มใช้สไตล์การออกแบบที่เรียกว่า Swiss Style
คือสไตล์ของภาพสะอาดตา คำนึงถึงทักษะการอ่านและเหตุผล เป็นรูปแบบที่แสดงความเด่นชัดของการจัดองค์ประกอบแบบไม่สมมาตร(Asymmetric lay-outs) มีการใช้ตาราง (Grid) และ Sanserif (ส่วนที่ยื่นออกมาจากตัวอักษร) เป็นสไตล์ที่ให้ความสำคัญ Typography (การพิมพ์) รวมไปถึงการผสมผสานการออกแบบโดยการใช้รูปถ่าย (Photography) ภาพประกอบ(Illustrate) และรูปวาด (Drawing) ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่แสดงความเป็นสวิสสไตล์














































































































งานของ พอล แรนด์ เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมชอบงานกราฟิกมากกว่าที่เป็นอยู่
และคิดว่ามันน่าจะเกิดขึ้นกับเพื่อนๆด้วย
ถ้าได้เห็นและรู้จักกับงานของ พอล เเรนด์




อ้างอิง -หนังสือ Paul Rand ของSteven Heller

เหยื่อ!! ของงานออกแบบ

มีหัวข้อสนทนาระหว่างผมกับเพื่อนที่คิดมันน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง
ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดหลังจากผมและเพื่อนออกไปเดินเที่ยวที่ฟิวเจอร์ปารค

หลังจากที่เราเดินไปหาสิ่งของจำเป็นในการทำงานจนเริ่มคอแห้ง
ก็เหลือบไปเห็นร้านๆหนึ่งสะดุดตา นั่นคือร้าขายน้ำแข็งใสที่ชื่อว่า
"Ice Monster" ซึ่งเป็นร้านที่พวกผมไม่เคยเห็นกันมาก่อน
แต่ด้วยความแก่กล้าวิชา หลังจากเรียนเรื่อง Coperate Identity
มาหมาดๆ ผมและเพื่อนๆจึงได้คุยกันเเละเห็นพ้องว่า Ice Monster
เป็นร้านที่มีลักษณะน่าสนใจและต้องผ่านการดีไซน์มาแน่นอน


ด้วยความกระหายรวมกับทัศนคติเชิงบวกที่มีต่อการออกแบบของร้าน
"เน็ท" เพื่อนผม จึงได้ตัดสินใจดับกระหายด้วยสินค้าร้านนี้

หลังจากเลือกเมนูที่ดูน่ากินบนป้ายเมนูที่ดูสวยงามอยู่สักพัก จึงสั่งมากิน

สิ่งที่เราพบกลับเป็น "น้ำแข็งใสรถเข็นที่มีผลไม้โปะหน้า"
ในราคา 50 กว่าบาท แถมให้น้อยอีกต่างหาก

โอ้แม่จ้าว!?

หลังจากกินแล้วเราได้พบว่านี่มันไม่ได้ต่างไปจาก น้ำแข็งใสที่มีขายทั่วไป
ตามท้องถนนเลยซักนิด ต่างเพียงนี่มีผลไม้แถมให้ด้วยเท่านั้น!!

หลังจากตัดพ้อกันว่า ทำไมกูต้องมาเสียเงินแพงๆให้กับของแบบนี้?

เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า "เรามันเป็นเหยื่อของงานดีไซน์เข้าแล้ว"

จากของที่ไม่ได้มีรสชาติีอะไรแตกต่างทำไมถึงขายได้?

เราจึงเริ่มมาถกเถียงกันว่าเหตุผลที่เราเลือกซื้อตอนแรกมันคืออะไร?

มันคือความน่าสนใจโดยภาพรวมของร้านและ
ความสวยงามของ Packaging

นั่นหมายความว่าผลของการออกแบบที่ดี
กลับกลายเป็นการทำลายผู้บริโภคอย่างเราใช่มั้ย?

ถ้าลองมาคิดกันดูแล้วกรณีแบบนี้ก็มีเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิตผม
ครั้งหนึ่งผมเคยเลือกที่จะกินขนมจากร้านข้างโรงเรียนที่มีดีไซน์สวยงาม
มากกว่าขนมจากร้านแถวบ้านที่แม่บอกว่าอร่อยนักหนา

ทั้งๆที่รสชาติร้านแถวบ้านมันก็อร่อยกว่าจริงๆ?

แต่ผมกลับรูสึกว่าการที่เราได้กินขนมพร้อมถือกล่องสวยๆ มันเจ๋งกว่า
กินขนมที่ไม่มียี่ห้อตั้งเยอะ แม้จะไม่อร่อยมากนักแต่ก็พอกินได้ก็ไม่ขัดแล้ว

เหตุการณ์แบบนี้เคยเจอกันรึเปล่าครับ?

ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอมีเจอเหตุการณ์ของเพื่อนครั้งนี้
มันทำำให้ฉุกคิดได้ว่า งานออกแบบ มันมีผลต่อชีวิตประจำวันของเราเหลือเกิน

มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ เมื่อวันที่ไปทำงานศึกษา
สภาพแวดล้อมกับการออกแบบที่ Paragon กับ ฟานเชสโก้ และ เน็ท
เนื่องจากความเหนื่อยจากการเดินทาง ขากลับเราจึงเลือก
ที่จะกลับรถไฟฟ้า พอซื้อบัตรแล้วก็รีบขึ้นไปรอรถทันทีเพราะได้ยินเสียงรถ
หลังจากที่ผม กับ เน็ท ได้เข้ารถกันอย่างเฉียดฉิวก็ได้นั่งรถและพูดคุย
ถึงเรื่องที่ได้เจอมาทั้งวันอย่างสนุกสนานและออกรส แต่พอเวลาผ่านไป
ก็ได้ดูป้ายของสถานีที่อยู่ด้านในรถว่าถึงจุดหมายรึยัง ปรากฏว่า...

เรานั่งผิดทาง!! แถมนั้งมาเกือบสุดสายแล้วอีกต่างหาก

จริงอยู่ที่เราอาจจะสะเพร่าไม่ดูให้ดี แต่ทำไมมันไม่ทำป้ายบอกว่าจะทางไหน
อยู่ในรถไฟฟ้าด้วยวะ? เพราะถ้ามีเราคงจะรู้ตัวกันไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้วว


ถึงแม้มันจะเป็นจุดเล็กๆน้อยๆ แต่ผมเชื่อเลยว่าจะต้องมีคนที่เคยประสบปัญหา
แบบพวกผมแน่ๆ

นี่เป็นความผิดเกี่ยวกับการออกแบบใช่หรือไม่? มันอาจจะเป็นความรู้สึกส่วนตัว
แต่ก็ทำให้คิดได้ว่า การออกแบบที่จัดการข้อมูลได้ไม่ดี
ก่อให้เกิดปัญหากับผู้บริโภคได้ ซึ่งมันก็สนับสนุนเนื้อหาข้างต้น

การออกแบบและการจัดการข้อมูล อาจสามารถบิดเบือนคุณค่าแท้จริงของสินค้า
ไป แต่ส่วนใหญ่มันกลับเป็นสิ่งที่เราเลือกจะยอมรับมันซะอีกด้วยซ้ำ

นั่นแสดงให้เห็นว่าเราเลือกความสำคัญของภาพพจน์ที่ใช้ของที่ดูดี
ถ้าสินค้าไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป ก็พร้อมจะจ่ายเงินในราคาแพง
กว่าคุณค่าจริงๆของมัน ที่อาจจะไม่ได้ดีเด่อะไร

นั่นแปลว่าเราหลายๆคนต่างเป็น "เหยื่อ" ของงานออกแบบไปโดยไม่รู้ตัว


คุณคิดแบบนั้นมั้ยครับ?







ขอขอบคุณ
- คุณ ฉัตรณรงค์ จริงศุภธาดา ที่ร่วมกันในการถกปัญหา
- คุณ วริท ไชยกูล (ฟานเชสโก้) ที่ไปเดินด้วยกันที่พารากอน แม้ทีหลังจะแยกตัวไปหาความสุขคนเดียว
- อาจาร วี วีรพร สำหรับแนวคิดเรื่องเหยื่อของการออกแบบที่บอกผ่านฉัตรณรงค์มาอีกที

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

Modern and Postmodern

หลังจากที่ศึกษาเรื่อง Graphic Design ในยุค Postmodern
ก็ได้ตั้งข้อสังเกตุเรื่องหนึ่งคือ

Modern และ Postmodern ต่างกันยังไง?

เมื่อลองมาวิเคราะห์กันดูแล้วก็ได้ความต่างบางอย่างที่ค่อนข้างชัดเจน คือ

งานในสมัย Modern ค่อนข้างจะเป็นงานที่สร้างสรรค์ออกมา
เพื่อให้เป็นศิลปะ ซะส่วนใหญ่ ส่วนในสมัย Postmodern นั้น
งานที่สร้างออกมามักจะมีจุดมุ่งหมายไปในเรื่องของการค้า
เป็นสำคัญ

เนื่องจากยุค Postmodern เป็นยุคที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนา
การนำเอางานออกแบบ มาใช้ในการประชาสัมพันธ์มีมากขึ้น
ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกหนึ่งความต่างระหว่าง Modern และ Postmodern



อ้างอิง
- A History of Graphic Design, Philio B.Meggs

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

Graphic on Enviropment

การพวกเราที่นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในวงการออกแบบแล้ว
การออกไปเดินดูพวกกราฟิก ตามห้างที่ดูมีรสนิยม อย่าง พารากอน
นับว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก เพราะการที่ได้ดู สัมผัส และซึมซับ
พวกกราฟิกทั้งกลาย ทีี่มีอยู่ทั่วไปในห้างดังๆ หรือตามร้านค้า แบรนด์เนม นั้น
มันจะทำให้เราได้จดจำงานที่ผ่านกระบวนการคิด จากนักออกแบบมาแล้ว
มันจะช่วยเราได้ดีในการแก้ปัญหา โดยหยิบยืมเอารูปแบบหรือแนวคิดที่สัมผัสได้
มาเป็นกรณีตัวอย่าง ในการทดลองออกแบบ


หลังจากคุยเรื่องนี้กับฉัตรณรงค์ จริงศุภธาดา เพื่อนที่ไปเดินด้วยกัน
ก็เกิดสงสัยว่าแล้วการที่เรามาเดินดูงานพวกนี้
มันต่างจากการที่เราดูงานในหนังสือยังไง?

เมื่อมาคิดและคุยกันแล้วก็ได้ความคิดเห็นว่า

อย่างแรกที่ต่างจากการดูหนังสือคือ เรื่องของสัมผัสของวัสดุที่ใช้จริง
และมิติที่ต่างกันของวัสดุแต่ละประเภท

การเลือกใช้วัสดุ (materials) ในงานออกแบบ จำเป็นที่จะต้องเลือก
ให้เข้ากับลักษณะงาน เพื่อให้ได้้งานที่ดี เพราะฉะนั้นการที่เราได้สัมผัส
materials พวกนี้จากงานคนอื่น น่าจะได้ประโยชน์จากจดจำและนำไปใช้
เมื่อเรารู้ลักษณะของวัสดุจริงแล้วย่อมช่วยให้เราออกแบบได้ง่ายขึ้น


อย่างที่สอง คือเรื่องของ "ขนาด" งานกราฟิก หรือพวกงานสิ่งพิมพ์
ใหญ่ มันจะส่งผลต่อการออกแบบแน่นอน ยิ่งงานมีขนาดใหญ่
นักออกแบบย่อมมีพื้นที่ให้เล่นมากขึ้น แต่หมายความว่าเราจะคุมยากขึ้นด้วย
การได้ดูงานพวกนี้น่าจะช่วยเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาในภายหลังได้


นอกจากนี้น่าจะมีเรื่องสีที่ใช้มื่อถูกแสงของตัวห้างมีผลต่อการออกแบบ
และรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ของงานที่ถูกติดตั้งและ้วในสถานที่จริง
มันน่าที่จะเป็นตัวอย่างที่ดี ในการแก้ปัญหาในงานออกแบบ


ฉัตรณรงค์ กล่าวว่า มีอาจารท่านหนึ่งเคยบอกว่า การที่เราจะต้องมาเดินดูนู่นดูนี่
สำหรับนักออกแบบแล้ว มันถือเป็นการ "ฝึกสัญชาติญาณในการออกแบบ"
เราต้องฝึกสังเกต เพราะการเดินดูงานพวกนี้มันช่วยเราได้จริงๆในการออกแบบ
ซึ่งเราไม่ใช่ช่างที่เพียงแต่ต้องมีความชำนาญในการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
แต่เราจำเป็นต้องความคิดสร้างสรรค์ด้วย ดังนั้น การที่เราจะเดินเที่ยวดูนู่น
ดูนี่จะเป็นการช่วยให้เราได้รับอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ ผมว่านั่นคือ
สิ่งที่จะทำให้งานเราดูน่าสนใจ เพียงแค่รู้จักดูสิ่งต่างๆรอบตัว



"ยิ่งดูเยอะยิ่งเก่งเร็ว"



ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่ออย่างนั้นนะ




ภาพ : SiamParagon,Central World